07 กันยายน 2554

การอ่าน


การอ่านแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่


                1. การอ่านเพื่อเก็บความรู้และอ่านเอาเรื่อง คือ สามารถแยกข้อความสำคัญและสามารถบอกผู้อื่นได้ว่าได้รับความรู้อะไรบ้าง แล้วสามารถเรียงลำดับให้ผู้อื่นฟังหรือชักชวนทราบได้


                2. การอ่านวิเคราะห์ คือ ผู้อ่านติดตามเรื่องราวต่อเนื่อง รู้ว่าใคร ทำอะไร อย่างไร ที่ไหน เมื่อไร ด้วยเหตุผลอะไร


                3. การอ่านตีความ คือ ผู้อ่านต้องพิจารณาว่า สารที่สำคัญที่สุดแก่ผู้อ่านได้แก่อะไร การอ่านชนิดนี้นอกจากตีความทั้งเรื่องแล้วแต่ละช่วงอาจต้องตีความด้วย


                4. การประเมินค่าสิ่งที่เราได้อ่าน คือ ผู้อ่านต้องทราบว่าผลที่ได้รับจากการอ่าน ชี้บอกว่าสิ่งใดดี สิ่งใดบกพร่อง สิ่งใดเหมาะสมในด้านใด


วิธีทำความเข้าใจในการอ่าน มีขั้นตอนดังนี้


                1. ศึกษาความหมายของคำ กลุ่มคำ และสำนวน คำบางคำว่ามีความหมายได้หลายอย่างทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อความ ข้อความแวดล้อมหรือบริบทรอบข้าง


                2. ศึกษาความหมายของกลุ่มคำ ในประโยคแล้วแยกให้ถูกต้อง


                3. จับใจความสำคัญของเรื่อง ต้องพิจารณาเป็นข้อๆ คือ ความคิดสำคัญ ความทรู้สึกที่แฝงอยู่ และเจตนาของผู้เขียน


การแสดงความคิดเห็น


            การแสดงความคิดเห็น คือ การแสดงอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด และข้อสันนิษฐานที่ผู้พูดหรือผู้เขียนมีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการศึกษาหาความรู้และพัฒนาชีวิต ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความรู้แล้วยังก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และส่งเสริมให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้แนวคิดในการดำเนินชีวิตจะต้องจับใจความได้ สรุปสาระสำคัญของเรื่องที่ฟังหรืออ่านได้


                การฟังหรือการอ่านเพื่อวิเคราะห์เป็นการคิดพิจารณาและไตร่ตรองด้วยเหตุผลว่าเนื้อความที่อ่านนั้น ส่วนใดเป็นสาระหรือไม่เป็นสาระ ส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง ส่วนใดเป็นข้อคิดเห็น ส่วนใดควรเชื่อถือ ส่วนใดไม่ควร มีหลักปฏิบัติดังนี้


                1. แยกแยะส่วนที่เป็นสาระสำคัญและส่วนขยายความ การอ่านอย่างวิเคราะห์นั้นผู้อ่านจะต้องค้นหาส่วนที่เป็นสาระสำคัญที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอ เพื่อจะได้เข้าใจจุดประสงค์ที่แท้จริงของผู้เขียน


                2. แยกแยะส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงออกจากข้อคิดเห็น ผู้อ่านต้องพิจารณาว่าความคิดเห็นของผู้เขียนตั้งอยู่เป็นเหตุผลที่ถูกต้องหรือไม่ ควรเห็นด้วยกับผู้เขียนหรือไม่ การอ่านประเภทนี้จึงต้องอาศัยประสบการณ์การอ่านอย่างมาก


ลักษณะของข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น


                1. ข้อเท็จจริง เป็นลักษณะของเนื้อความที่แสดงถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลหรือข้อมูลที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว ลักษณะของข้อเท็จจริง เช่น


                - ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข


                - ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตก


                2. ข้อคิดเห็นเป็นลักษณะของเนื้อความที่แสดงความเชื่อ ค่านิยม และทัศนคติส่วนตัวของผู้เขียน การเขียนข้อคิดเห็น ผู้อ่านจึงอาจเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ได้ เช่น


                - การสอนเด็กนักเรียน ไม่ควรใช้วิธีการตี เพราะไม้เรียวไม่สามารถช่วยอะไรได้มากไปกว่าช่วยกำราบชั่วครั้งชั่วคราว แต่ไม่ได้พัฒนาคุณธรรม และสติปัญญาของเด็กขึ้นเลย


                - ผมเห็นว่าผู้บริหารประเทศไม่ควรเป็นผู้หญิง เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนไหวง่าย ขาดความเฉียบขาดและที่สำคัญหล่อนมักจู้จี้จุกจิกในเรื่องไม่เป็นเรื่อง


ข้อเสนอแนะในการอ่านเชิงวิเคราะห์


                1. อ่านหนังสือนั้นๆ อย่างละเอียดตั้งแต้ตนจนจบ และพิจารณาหาเหตุผลประกอบ


                2. อ่านหนังสืออื่นๆ ประกอบ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนที่จะประเมินค่า


                3. ใช้ความรู้ ประสบการณ์ และวิจารณญาณในการแยกแยะส่วนที่ดี ส่วนที่บกพร่องอย่างมีเหตุมีผล


                4. เมื่ออ่านหนังสือเรื่องนั้นๆ จบ ควรตอบตนเองได้ว่า ได้รับอะไรจากการอ่าน เช่น ได้รับความรู้ ความบันเทิง ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ และเรื่องนั้นๆ มีคุณค่าอย่างไร เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น