07 กันยายน 2554

การสร้างคำในภาษาไทย


วิธีการสร้างคำในภาษาไทย มี 2 ลักษณะ คือ
  • การสร้างคำโดยวิธีการนำวิธีการของภาษอื่นมาใช้ โดยเฉพาะการสร้างคำของภาษาบาลีสันสกฤต และภาษาเขมร โดยใช้วิธีการดังต่อไปนี้
    • การใช้อุปสรรค
    • การสมาส
    • การสนธิ
    • การสร้างคำตามวิธีของภาษาเขมร
  • การสร้างคำที่เป็นวิธีการของภาษาไทยเอง โดยใช้วิธีการดังนี้
    • การประสมคำ
    • การซ้อนคำ
    • การซ้ำคำ

การสร้างคำโดยวิธีการนำวิธีการของภาษอื่นมาใช้
  • การใช้อุปสรรค
อุปสรรค คือ พยางค์ที่ใช้ประกอบหน้าศัพท์ ทำให้มีความหมายเปลี่ยนแปลงไปคำอุปสรรคจะใช้ตามลำพังไม่ได้ต้องใช้ประกอบนามหรือกริยา ถ้าประกอบนามจะทำหน้าที่เหมือนส่วนขยายนาม ถ้าประกอบกริยาจะทำหน้าที่เหมือนส่วนขยายกริยา คำอุปสรรคเมื่อประกอบหน้าศัพท์แล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงตามหลักสนธิ
คำอุปสรรคที่นำมาใช้ในภาษาไทยจะนำมาใช้ตามรูปคำบาลีและสันสกฤตก็มีบางคำก็เปลี่ยนเสียงให้เข้ากับคำไทย และเมื่ออยู่ในคำไทยความหมายอาจเปลี่ยนไปได้ เช่น บริษัท แปลว่า นั่งรอบ เมื่อเป็นคำไทยหมายถึงนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อเข้าหุ้นกัน หรือคนทั้งหลายมาประชุมกัน เป็นต้น

  • การสมาส
สมาส เป็นวิธีการสร้างคำในภาษาบาลีและสันสกฤตเช่นเดียวกับคำประสมของไทย โดยนำคำตั้งแต่ 2 คำ มารวมเป็นคำเดียวกันให้มีความหมายเกี่ยวเนื่องกัน เช่น มัธยมศึกษา ศีลธรรม ส่วนวิธีการนำคำตั้งแต่ 2 คำ มาเชื่อมกัน ใช้การกลมกลืนเสียงให้เป็นคำเดียวกัน โดยมีการเปลี่ยนแปลงพยัญชนะ สระ ให้ออกเสียงกลมกลืนกันสนิทเรียกว่า " สนธิ " ดังนั้น สนธิเป็นการนำ คำหลายคำมาเชื่อมต่อกัน โดยให้เสียงกลมกลืนกัน เช่น คำว่า สุข อภิบาล เป็น สุขาภิบาล นร อินทร์ เป็น นรินทร์ เป็นต้น
วิธีการสร้างคำตามวิธีการสมาสของคำบาลี สันกฤต มี 2 วิธี คือ
1. วิธี ลบวิภัตติ
วิภัตติ หมายถึง พยางค์ที่นำมาประกอบท้ายนามศัพท์หรือกริยาศัพท์ในภาษาบาลีและสันสกฤต เพื่อบอกให้รู้บุรุษ พจน์ เพศและหน้าที่ของคำในประโยค ในคำที่เป็นคำนาม หรือบอกให้รู้กาลมาลา วาจก ในคำที่เป็นคำกริยา
การสมาสโดยลบวิภัตติในคำหน้าก่อนที่จะนำมารวมกัน เช่น
สมณ ประกอบวิภัตติเป็น สมโณ พฺราหฺมโณ
เมื่อนำ สมโณ กับ พฺราหฺมโณ สมาสกัน จะลบวิภัตติตัวหน้าเป็น สมณ แล้วนำมารวมกับคำหลังเป็น สมณพฺราหฺมโณ ไทยใช้ สมณพราหมณ์

2. วิธี คงวิภัตติไว ้
การสมาสโดยวิธีคงวิภัตติไว้ สามารถทำได้โดยคำหน้าไม่ลบวิภัตติ แล้วสมาสกับคำหลังให้ติดกัน เช่น
มนสิ กับ กาโร สมาสกันเป็น มนสิกาโร ไทยใช้ มนสิกา
                การสมาสในภาษาไทยไม่มีการลบวิภัตติ หรือคงวิภัตติอย่างในภาษาบาลี สันสกฤตซึ่งเป็นภาษาที่มีวิภัตติ เมื่อไทยนำคำบาลี สันสกฤตเข้ามา เราใช้คำเดิมของเขาที่ไม่มีรูปวิภัตติ เมื่อนำมาสมาสเราก็จะนำมารวมกันหรือเรียงคำเข้าด้วยกัน คือ นำคำขยาย มาไว้ข้างหน้าและอ่านออกเสียงต่อเนื่องกันเช่น
ราช กุมาร     =    ราชกุมาร
ภูมิ ศาสตร์     =    ภูมิศาสตร์
สังฆ ทาน      =    สังฆทาน
ปัญญา ชน     =    ปัญญาชน
ข้อสังเกต     คำสมาสจะต้องเป็นคำบาลีกับบาลี หรือสันสกฤตกับสันสกฤตมาสมาสกัน เช่น ธรรมจริยา กิตติคุณ หรือจะเป็นคำบาลีกับสันสกฤตมาสมาสกันก็ได้ เช่น วัฒนธรรม กิตติศักดิ์ ปฐมฤกษ์ ถ้าเป็นคำไทยกับบาลีหรือสันสกฤตจะไม่เป็นคำสมาส แต่เป็นคำประสม เช่น ราชวัง ( บาลี ไทย ) ทุนทรัพย์ ( ไทย สันสกฤต ) สรรพสิ่ง ( สันสกฤต ไทย ) และภาษาเขมรกับภาษาบาลีและสันสกฤตมาประสมกัน ก็เป็นคำประสม ไม่ใช่คำสมาส เช่น กระยาสารท ( เขมร บาลี ) บายศรี ( เขมร สันสกฤต )
ลักษณะของคำสมาส
1. คำสมาส จะต้องเป็นคำที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตมาสมาสกัน จะนำคำไทยหรือคำภาษาอื่นมาสมาสกับคำบาลีหรือสันสกฤตไม่ได้ เช่น
ศิลป วิทยา    สมาสเป็น    ศิลปวิทยา
ราช การ       สมาสเป็น    ราชการ
  • เมื่ออ่านคำสมาส จะต้องอ่านให้มีเสียงสระเชื่อมติดกันระหว่างคำหน้ากับคำหลัง ถ้าระหว่างคำไม่มีรูปสระ ให้อ่านเหมือนมีสระอะประสมอยู่ เช่น
ภูมิศาสตร์     อ่านว่า     พู - มิ – สาด
มนุษยธรรม   อ่านว่า     มะ - นุด - สะ - ยะ – ทำ
  • คำสมาสที่มีเสียงอะที่พยางค์ท้ายคำหน้าจะไม่ใส่รูปวิสรรชนีย์ เช่น สมณพราหมณ์ ไม่ใช่ สมณะพราหมณ์ กาลเทศะ ไม่ใช่ กาลเทศะ
  • ระหว่างคำสมาสไม่ใช้เครื่องหมายทัณฑฆาต เช่น
มนุษยธรรม ไม่ใช่ มนุษย์ธรรม แพทยศาสตร์ ไม่ใช่ แพทย์ศาสตร์
  • คำว่า " วร " เมื่อสมาสกับคำอื่นแล้ว จะนำมาใช้เป็นคำราชาศัพท์ ในภาษาไทยจะแผลงเป็น พระ เช่น
                     วรพักตร์     เป็น    พระพักตร์
วรเนตร      เป็น    พระเนตร
                แต่พระเก้าอี้ พระอู่ พระขนอง ซึ่งมีคำว่าพระอยู่ข้างหน้า แต่เก้าอี้ อู่ ขนอง ไม่ใช่คำบาลีสันสกฤต คำราชาศัพท์เหล่านี้จึงไม่ใช่คำสมาส
               
  • การสนธิ
สนธิ เป็นการเปลี่ยนแปลงเสียงตามหลักภาษาบาลีสันสกฤต เมื่อเสียงสองเสียงอยู่ใกล้กันจะมีการกลมกลืนเป็นเสียงเดียวกันโดยมีการเปลี่ยนแปลงพยัญชนะสระและนิคหิตที่มาเชื่อมเพื่อการกลมกลืนเสียงให้เป็นธรรมชาติของการออกเสียง และทำให้คำเหล่านั้นมีเสียงสั้นเข้า
สนธิ มี 3 ลักษณะ คือ
  • สระสนธิ
เป็นการนำคำที่ลงท้ายสระไปสนธิกับคำที่ขึ้นต้นด้วยสระ ซึ่งเมื่อสนธิแล้ว จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปสระ เพื่อให้เสียงสระ 2 เสียงได้กลมกลืนเป็นเสียงสระเดียวกัน สระที่เป็นคำท้ายของคำหน้าจะได้แก่ สระอะ อา อิ อี อุ อู เป็นส่วนใหญ่ เช่น

    • สระอะ อา ถ้าสนธิกับสระอะ อา ด้วยกัน จะรวมเป็นสระอะ อา เช่น
        เทศ อภิบาล        เป็น         เทศาภิบาล
กาญจน อาภรณ์    เป็น         กาญจนาภรณ์
ถ้าสระอะ อา สนธิกับสระอะ อาของพยางค์ที่มีตัวสะกด จะรวมเป็นสระอะที่มีตัวสะกด เช่น
          มหา อรรณพ        เป็น         มหรรณพ
                มหา อัศจรรย์        เป็น         มหัศจรรย์
ถ้าสระอะ อา สนธิกับสระอิ อี จะรวมเป็นสระอิ อี หรือเอ เช่น
นร อินทร์           เป็น         นรินทร์ หรือ นเรนทร์
                      มหา อิสิ             เป็น         มหิสิ หรือ มเหสี
ถ้าสระอะ อา สนธิกับสระอุ อู จะรวมเป็นสระอุ อู หรือโอ เช่น
                        มัคค อุเทศก์        เป็น         มัคคุเทศก์
ราช อุปถัมภ์          เป็น         ราชูปถัมภ์
                  ถ้าสระอะ อา สนธิกับสระเอ ไอ โอ เอา จะรวมเป็นเอ ไอ โอ เอา เช่น
                        มหา โอฬาร          เป็น         มโหฬาร
โภค ไอศวรรย์       เป็น         โภไคศวรรย์

    • สระอิ อี สนธิกับสระอิ จะรวมเป็นสระอิ เช่น
                 ภูมิ อินทร์         เป็น          ภูมินทร์
โกสี อินทร์         เป็น         โกสินทร์
ถ้าสระอิ อี สนธิกับสระอื่น เช่น อะ อา อุ โอ มีวิธีการ 2 อย่าง คือ
ก. แปลงรูปอิ อี เป็น ย ก่อน แล้วจึงนำไปสนธิตามแบบ อะ อา แต่ถ้าคำนั้นมีตัวสะกด ตัวตาม ต้องตัดตัวตามออกเสียก่อน แล้วจึงนำมาสนธิ ดังนี้
มติ อธิบาย         เป็น     มัตย อธิบาย         เป็น   มัตยาธิบาย
             อัคคี โอภาส       เป็น     อัคย โอภาส           เป็น อัคโยภาส
   ข. ตัดอิ อี ออก แล้วสนธิแบบ อะ อา เช่น
หัตถี อาจารย์       เป็น         หัตถาจารย์
                            ศักดิ อานุภาพ    เป็น         ศักดานุภาพ

                  ( 3 ) สระอุ อู ถ้าสระอุ อูสนธิกัน รวมกันเป็นรูปสระอุ อู เช่น
                           ครุ, คุรุ อุปถัมภ์    เป็น         คุรุปกรณ์, คุรูปกรณ์
ครุ , คุรุ อุปถัมภ์         เป็น         คุรุปถัมภ์, คุรูปถัมภ์
             แต่ถ้าสระอุ อู นี้สนธิกับสระอื่น จะต้องเปลี่ยนรูป อุ อู เป็น ว แล้วสนธิตามแบบ อะ อา

  • พยัญชนะสนธิ
ในภาษาบาลี คือ การนำคำที่ลงท้ายด้วย สระไปสนธิกับคำที่ขึ้นต้น ด้วยสระหรือพยัญชนะ ส่วนในภาษาสันสกฤต คือ การนำคำที่ลงท้ายด้วย พยัญชนะไปสนธิกับคำที่ขึ้นต้นด้วย สระหรือพยัญชนะ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ยุ่งยาก จะไม่นำมากล่าวในที่นี้ เรารับคำสมาส ที่มีสนธิของภาษาบาลีสันสกฤต มาใช้   เช่น
                    มน ภาว ( บ. ) มนสฺ ภาว ( ส )    =     มโนภาว ไทยใช้ มโนภาพ
                    เตช ชย ( บ. ) เตชสิ ชย ( ส )    =      เตโชชย ไทยใช้ เตโชชัย

             3. นิคหิตสนธิ ( หรือนิคหิตสนธิ )
นิคหิตสนธิ เป็นการนำคำที่ลงท้าย นิคหิตไปสนธิกับคำที่ขึ้นต้นด้วย พยัญขนะหรือสระก็ได้มีหลักดังนี้
  • ถ้าคำที่ลงท้ายด้วยนิคหิตไปสนธิกับคำที่ขึ้นต้นด้วยพยัญชนะวรรค ให้แปลงรูปนิคหิตเป็นพยัญชนะท้ายวรรคก่อนแล้วจึงนำไปสนธิกัน พยัญชนะท้ายวรรคของพยัญชนะวรรคทั้ง 5 วรรค ได้แก่ ง ญ ณ น ม
ถ้านิคหิตสนธิกับพยัญชนะวรรค ก ได้แก่ ก ข ค ฆ ให้เปลี่ยน ํ เป็น ง ดังนี้
                              สํ กร             เป็น         สังกร         สํ ขาร     เป็น    สังขาร
                              สํ คม     เป็น      สังคม        สํ คีต      เป็น    สังคีต
ถ้านิคหิตสนธิกับพยัญชนะวรรค จ ได้แก่ จ ฉ ช ฌ ให้เปลี่ยน ํ เป็น ญ
สํ จร          เป็น      สัญจร         สํ ชาติ     เป็น  สัญชาติ
                   ถ้านิคหิตสนธิกับพยัญชนะวรรค ฏ ได้แก่ ฏ ฐ ฑ ม ให้เปลี่ยน ํ เป็น ณ
สํ ฐาน     เป็น       สัณฐาน         สํ ฐิติ      เป็น     สัณฐิติ
                    ถ้านิคหิตสนธิกับพยัญชนะวรรค ตได้แก่ ต ถ ท ธ ให้เปลี่ยน ํ เป็น น ดังนี้
                               สํ ธาน  เป็น    สันธาน    สํ นิบาต   เป็น    สันนิบาต
  ถ้านิคหิตสนธิกับพยัยชนะวรรค ป ได้แก่ ป ผ พ ภ ให้เปลี่ยน ํ เป็น ม ดังนี้
                               สํ ผสฺส    เป็น      สัมผัสส    ไทยใช้ สัมผัส
                         สํ ภาษณ  เป็น สัมภาษณ์     สํ ภว    เป็น     สมภพ

               (2 ) ถ้าคำที่ลงท้ายด้วยนิคหิตไปสนธิกับพยัญชนะเศษวรรค (พยัญชนะอวรรค) ให้เปลี่ยนเป็นดัง ก่อนแล้วจึงสนธิกัน    พยัญชนะเศษวรรค ได้แก่ ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ สนธิดังนี้
                     สํ โยค          เป็น         สังโยค    สํ วร    เป็น    สังวร
สํ วาส           เป็น         สังวาส    สํ หร    เป็น    สังหรณ์

( 3 ) ถ้าคำที่ลงท้ายด้วยนิคหิตไปสนธิกับคำที่ขึ้นต้นด้วยสระ จะต้องเปลี่ยน ํ เป็น ม ก่อนแล้วจึงสนธิกัน เพื่อให้เสียงของคำเชื่อมกันสนิท
สํ อาทาน        เป็น         สมาทาน
                              สํ อิทธิ           เป็น         สมาธิ

                       การสนธิเป็นการเปลี่ยนแปลงเสียงเมื่อเสียง   2 เสียงใกล้กัน และการเปลี่ยนแปลงเสียงนี้ จะปรากฏในคำสมาสและคำที่ลงอุปสรรค ดังกล่าวแล้ว ดังนั้น การสนธิจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงเสียงเท่านั้น มีอยู่ในการสมาสและการลงอุปสรรค ไม่ใช่การสร้างคำใหม่

4. การสร้างคำตามวิธีของภาษาเขมร
1. การลงอุปสรรค โดยการเติมหน่วยคำเข้าข้างหน้าคำเดิม ทำให้คำเดิมพยางค์เดียวเป็นคำใหม่ 2 พยางค์
การลงอุปสรรค บ ํ ซึ่งจะเปลี่ยนเป็น บัง บัน บ่า เช่น
เพ็ญ - บำเพ็ญ เกิด – บังเกิด
เมื่อ บํ อยู่หน้าวรรค กะ หรือ เศษวรรค จะอ่านว่า "บัง" เช่น บังคม , บังเกิด
เมื่อ บํ อยู่หน้าวรรค ตะ อ่านว่า "บัน" เช่น บันดาล , บันโดย, บันเดิน
เมื่อ บํ อยู่หน้าวรรค ปะ อ่านว่า "บำ" เช่น บำบัด , บำเพ็ญ, บำบวง

          2. การลงอาคม
 โดยการเติมหน่วยคำเข้ากลาง คำหลัก ทำให้คำเดิมพยางค์เดียวเป็นคำใหม่ 2 พยางค์เรียกการลงอาคม
                  การลง ํ น (อำ น) ระหว่างพยัญชนะขึ้นของคำ เช่น
จง- จำนง ทาย -ทำนาย
การเติม ํ (อำ) ระหว่างพยัญชนะต้นที่เป็นพยัญชนะประสม บางคำก็เปลี่ยนพยัญชนะต้นด้วยเช่น
กราบ-กำราบ ตรวจ-ตำรวจ
เฉพาะพยัญชนะเสียงหนัก คือ พยัญชนะแถวสอง เช่น ข ฉ ให้เติมนฤคหิตกลางศัพท์ เปลี่ยน ข เป็น ก , ฉ เป็น จ และเพิ่ม ห เช่น
ฉัน-จังหัน แข็ง-กำแหง
เติมพยัญชนะ ง , น, ร, ล ลงในคำที่พยัญชนะต้นเป็นสระเดี่ยว เช่น
เรียง-ระเบียง เรียบ-ระเบียบ


การสร้างคำที่เป็นวิธีการของภาษาไทย
การสร้างคำไทย ภาษาไทยมีการสร้างคำด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
1. การประสมคำ
คำประสม คือ การนำเอาคำมูลที่มีความหมายต่างกัน 2 คำ หรือมากกว่า 2 คำขึ้นไปมาประสมกัน ทำให้เกิดคำใหม่ขึ้นอีกคำหนึ่งในภาษา ลักษณะทางความหมายของคำที่นำมาประสมกันมี 2 ลักษณะ ได้แก่
1. คำประสมที่มีความหมายตรง คำประสมประเภทนี้มีความหมายสำคัญอยู่ที่คำตั้งหรือคำหลัก ส่วนขยายมีความสำคัญรองลงไป เช่น ผลผลิต สระน้ำ แม่น้ำ ทางเดิน เรือหาง พ่อตา ลายมือ เมืองนอก พัดลม
2. คำประสมที่มีความหมายโดยนัย หรือความหมายเปรียบเทียบ เช่น มือเท้า ไก่อ่อน หัวสูง เส้นสาย ตาขาว วิ่งราว อกแตก หัวหมุน หัวแข็ง หน้าม้า ใจแคบ คอสูง
วิธีการสร้างคำประสม
คำประสมมีวิธีการสร้างคำ โดยนำคำมูลที่อาจเป็นภาษาเดียวกัน หรือต่างภาษากันก็ได้ ได้แก่
1. คำประสมที่นำคำมูลมาประสมกันแล้วมีความหมายเป็นอีกอย่างหนึ่ง แต่ยังคงเค้าความหมายเดิมของคำมูลอยู่ เช่น
น้ำ แม่ = แม่น้ำ หมายถึง แหล่งรวมของสายน้ำหลัก
แม่ ยาย = แม่ยาย หมายถึง แม่ของภรรยาซึ่งลูกเรียกว่ายาย
2. คำประสมที่นำคำมูลมาประสมกันแล้วมีความหมายเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น
ขาย หน้า = ขายหน้า หมายถึง อับอาย
หมด ตัว = หมดตัว หมายถึง ไม่มีเงินเหลือ
3. นำคำที่ไม่สามารถปรากฏตามอิสระได้ เช่น คำว่า “ ช่าง ชาว นัก หมอ การ ความ เครื่อง ของ ที่” เป็นคำตั้งประสมกับคำที่สามารถปรากฏตามอิสระได้ เช่น ช่างทอง ชาวนา นักเขียน หมอความ การกิน ความดี เครื่องเขียน
4 . คำไทยแท้ประสมคำบาลีสันสกฤต เช่น หลักฐาน แขกยาม นงเยาว์ ราชวัง ภูมิลำเนา
คำประสม ถ้าแบ่งตามชนิดของคำที่ทำน้าที่ในประโยค จะแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ
  • คำประสมที่ทำหน้าที่เป็นคำนาม มีวิธีการสร้าง 2 วิธี คือ
(1) ยึดคำนามเป็นหลัก ความหมายหลักอยู่ที่คำนามตัวแรก คำนามตัวหลังหรือคำอื่นเป็นคำขยาย เช่น แกงไก่ นากุ้ง แม่น้ำ ลูกน้ำ หมอดู ไข่ต้ม แกงจืด ข้าวสวย บ้านนอก
(2) ยึดคำกริยาหรือคำวิเศษณ์เป็นหลัก ส่วนคำอื่นที่ตามมาจะเป็นคำขยาย เช่น นั่งร้าน พัดลม ต้มยำ เปรี้ยวหวาน ต้มเค็ม
  • คำประสมที่ทำหน้าที่เป็นคำกริยา มีวิธีการสร้าง 2 วิธี คือ
(1) ยึดคำกริยาเป็นหลัก ความหมายหลักอยู่ที่คำกริยาตัวแรก คำกริยาตัวหลัง หรือคำอื่นเป็นตัวขยาย เช่น ยกเลิก ร้องส่ง แก้ไข ตบแต่ง ปิดปาก ถือดี
(2) ยึดคำวิเศษณ์หรือคำบุพบทเป็นหลัก คำอื่นเป็นคำเสริม เช่น
คำวิเศษณ์ประสมคำนาม เช่น อ่อนใจ แข็งใจ
คำวิเศษณ์ประสมคำบุพบท เช่น นอกใจ
  • คำประสมที่ทำหน้าที่เป็นคำวิเศษณ์ มีวิธีการสร้าง 2 วิธี คือ
(1) ยึดคำวิเศษณ์เป็นหลัก ความหมายหลักอยู่ที่คำวิเศษณ์ คำอื่นเป็นคำเสริมหรือคำขยาย เช่น แดงเลือดนก เขียวน้ำทะเล หลายใจ
(2) ยึดคำนาม กริยา หรือบุพบทเป็นหลัก คำอื่นเป็นคำเสริมหรือคำขยาย เช่น คอแข็ง วาดเขียน ข้างถนน

2. การซ้อนคำ
คำซ้อน หมายถึง การนำเอาคำใกล้เคียงกัน 2 คำมาซ้อนกัน หรือนำคำ 2 คำที่มีความหมายตรงกันข้ามมาซ้อนกัน เช่น บ้านเรือน วิ่งเต้น เต้นรำ ใกล้ชิด ความหมายตรงข้าม เช่น เท็จจริง ยากง่าย ดีชั่ว ถี่ห่าง ใกล้ไกล สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. คำซ้อนเพื่อความหมาย
หมายถึง การนำคำที่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายคลึงกันมาซ้อนกัน การสร้างคำซ้อนในลักษณะนี้ มีวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
1.1 คำไทยซ้อนกับคำไทย เช่น เล็กน้อย ใจคอ ทุบตี หน้าตา เหี่ยวแห้ง บ้านเรือน เป็นต้น
1.2 คำไทยซ้อนกับคำไทยถิ่น เช่น อ้วนพี เสื่อสาด คอยท่า สวยงาม อ่อนช้อย เป็นต้น
1.3 คำไทยซ้อนกับคำต่างประเทศ เป็นการนำคำไทยมาซ้อนกับคำในภาษาต่างประเทศ เช่น
ก. คำไทยซ้อนกับคำบาลีสันสกฤต เช่น จิตใจ หมั่นเพียร รูปร่าง ทรัพย์สิน เป็นต้น
ข. คำไทยซ้อนกับคำเขมร เช่น เข้มแข็ง ฟ้อนรำ หนองบึง ยกเลิก เป็นต้น
1.4 คำต่างประเทศซ้อนคำต่างประเทศ เป็นการนำคำบาลีซ้อนคำสันสกฤตหรือคำเขมรซ้อนคำเขมร เช่น สุขสงบ มิตรสหาย เฉลิมฉลอง เลอเลิศ ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น
2. คำซ้อนเพื่อเสียง
คำซ้อนเพื่อเสียง หมายถึง การนำคำที่มีเสียงใกล้เคียงกันมาซ้อนกันเกิดคำที่มีความหมายใหม่ เช่น เยอะแยะ ยิ้มแย้ม โซเซ มอมแมม โพล้เพล้ ลิบลับ จริงจัง พึมพำ เป็นต้น
ลักษณะของคำซ้อนเพื่อเสียง มีดังนี้
1. แต่ละพยางค์มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน ต่างกันที่เสียงสระ เช่นเกะกะ   ขรุขระ   คู่คี่   เงอะงะ   ซู่ซ่า
2. แต่ละพยางค์มีเสียงพยัญชนะต้นและพยัญชนะสะกดเหมือนกัน ต่างกันที่เสียงสระ    เช่น เก้งก้าง   ขลุกขลิก   คึกคัก จริงจัง โผงผาง
3. แต่ละพยางค์มีเสียงพยัญชนะต้นและเสียงสระเหมือนกัน ต่างกันที่เสียงพยัญชนะสะกด เช่น แจกแจง   เพลิดเพลิน   ทาบทาม   ยอกย้อน สอดส่อง
4.   แต่ละพยางค์มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกัน   ต่างกันทั้งเสียงสระและพยัญชนะสะกด โดยมีพยัญชนะสะกดหรือไม่มีก็ได้   เช่น   กงการ   ขบขัน   งงงวย   ฟุ่มเฟือย   เจือจาน
วิธีซ้อนคำเพื่อเสียง
1. นำคำที่มีพยัญชนะตัวเดียวกัน แตกต่างกันที่เสียงสระ นำมาซ้อนหรือควบคู่กัน เช่น เรอร่า เซ่อซ่า อ้อแอ้ จู้จี้ เงอะงะ เหนอะหนะ จอแจ ร่อแร่ เตาะแตะ ชิงชัง จริงจัง ตูมตาม ตึงตัง อึกอัก ทึกทัก โฉ่งฉ่าง หมองหมาง อุ๊ยอ้าย โอ้กอ้าก
2. นำคำแรกที่มีความหมายมาซ้อนกับคำหลัง ซึ่งไม่มีความหมายเพื่อให้คล้องจองและออกเสียงได้สะดวก โดยเสริมคำข้างหน้าหรือข้างหลังก็ได้ ทำให้เน้นความเน้นเสียงได้หนักแน่ โดยมากใช้ในภาษาพูด เช่น กวาดแกวด กินแกน พูดเพิด ดีเดอ เดินแดน มอมแมม ดีเด่ ไปเปย มองเมิง หูเหือง ชามแชม กระดูก กระเดี้ยว
3. นำคำที่มีพยัญชนะต้นต่างกันแต่เสียงสระเดียวกันมาซ้อนกันหรือควบคู่กัน เช่น เบ้อเร่อ แร้นแค้น จิ้มลิ้ม ออมซอม อ้างว้าง ราบคาบ
4. นำคำที่มีพยัญชนะต้นเหมือนกัน สระเสียงเดียวกัน แต่ตัวสะกดต่างกันมาซ้อนกัน หรือควบคู่กัน เช่น ลักลั่น อัดอั้น หย็อกหย็อย
5. คำซ้อนบางคำ ใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียงกันมาซ้อนกันและเพิ่มพยางค์ เพื่อให้ออกเสียงสมดุลกัน เช่น
ขโมยโจร เป็น ขโมยขโจร
สะกิดเกา เป็น สะกิดสะเกา
6. คำซ้อนบางคำอาจจะเป็นคำซ้อนที่เป็นคำคู่ ซึ่งมี 4 คำ และมีสัมผัสคู่กลาง หรือคำที่ 1 และคำที่ 3 ซ้ำกัน คำซ้อนในลักษณะนี้เป็นสำนวนไทยความหมายของคำจะปรากฏที่คำหน้าหรือคำท้าย หรือปรากฏที่คำข้างหน้า 2 คำ ส่วนคำท้าย 2 ตัว ไม่ปรากฏความหมาย เช่น เกะกะระราน กระโดดโลดเต้น บ้านช่องห้องหอ เรือแพนาวา ข้าเก่าเต่าเลี้ยง กตัญญูรู้คุณ ผลหมากรากไม้ โกหกพกลม ติดอกติดใจ

3. การซ้ำคำ
คำซ้ำ คือ การนำคำคำเดียวกันมากล่าวซ้ำ 2 ครั้ง หรือมากกว่า 2 ครั้ง ทำให้ได้ความหมายต่างไปจากคำเดิมที่เป็นคำเดียวโดด ๆ การเขียนคำซ้ำใช้ไม้ยมก ( ๆ) แทนคำที่ซ้ำกับ คำแรก การซ้ำคำทำให้ความหมายเปลี่ยนไปหลายแบบ ดังนี้
1. คำซ้ำแสดงความหมายเป็นพหูพจน์ ได้แก่ เด็กๆ หนุ่มๆ สาวๆ เธอๆ
2. คำซ้ำที่ให้ความหมายเชิงอุปมา ได้แก่ หมาๆ( ไม่ดี) กล้วยๆ( ง่ายๆ) ผีๆ( ไม่ดี) หมูๆ ( ง่าย)
3. คำซ้ำที่เน้นความหมายให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ได้แก่ เล็กๆ น้อยๆ สดๆ เหม็นๆ เย็นๆ อุ่นๆ
4. คำซ้ำที่ทำให้ความหมายเบาลง มักเป็นคำซ้ำบอกสี ได้แก่ แดงๆ ดำๆ ขาวๆ เขียวๆ เหลืองๆ เป็นต้น คำซ้ำชนิดนี้บ่งบอกว่าผู้พูดไม่แน่ใจว่าเป็นสีนั้นๆ ทีเดียว
5. คำซ้ำที่แยกความหมายออกเป็นส่วน ๆ ได้แก่
- แม่ค้าขายผลไม้เป็นเข่ง ๆ ( ขายครั้งละเข่ง)
- เดือน ๆ ดูผ่านไปเร็วเหลือเกิน ( นับทีละเดือน)
- แขกเหรี่อมาร่วมงานกันเป็นคันรถ ๆ ( นับทีละคันรถ)
6. คำซ้ำที่เปลี่ยนระดับเสียงเพื่อเน้นความหมายให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ได้แก่ ค้าวขาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น